ราคา...ของแฟนบอล
TG.Thaigunners@gmail.com
+6696-293-9839

COLUMNISTS

ราคา...ของแฟนบอล

1693 18-10-2015 Share

http://www.siamsport.co.th/Column/151018_052.html

 

ประเด็นข่าวใหญ่ในแวดวงฟุตบอลอังกฤษเวลานี้หนีไม่พ้นเรื่องผลสำรวจของแฟนบอลต่อการจ่ายเงินเพื่อซื้อแสดงความจงรักภักดีต่อสโมสรที่พวกเขารักและเทิดทูน 

 

        หลายปีที่ผ่านมากลุ่มแฟนบอลหลายสโมสรรวมกันรณรงค์ต่อต้านการขึ้นราคาตั๋วและของที่ระลึกของสโมสร ตอนนี้กลุ่มนั้นเริ่มขยายวงใหญ่และกว้างไปจนถึงระดับยุโรปด้วยประเด็นที่ผมคิดว่าชัดเจนมากๆ
 
        "  Supporter is not customer..!!  "
 
        แฟนบอลไม่ใช่ลูกค้า
 
        ใช่ครับ...ถ้าทีมฟุตบอลเปลี่ยนตัวเองจากสโมสรฟุตบอลเป็นแบรนด์ฟุตบอล หรือสินค้าชนิดหนึ่งที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่าพวกเขาสนับสนุนด้วยความซื่อสัตย์และยอมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนทีมอย่างเต็มใจ
 
        ไม่ว่าสินค้าหรือแบรนด์ฟุตบอลนั้นจะเล่นสไตล์ไหน ย่ำแย่ ห่วยแตกอย่างไร ตกชั้น ขึ้นชั้น แพ้คาบ้าน โน่น นี่ สารพัดแต่พวกเขาไม่ปริปากบ่นเพราะรักไปแล้ว มีอุดมการณ์ด่วยความซื้อสัตย์กับทีมบอลตัวเองไปแล้ว
 
        มันเปลี่ยนยาก...
 
        แบรนด์ฟุตบอลจึงเป็นสินค้าพิเศษ ที่ไม่เหมือน สบู่, ยาสระผม, เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ไอโฟน...เมื่อเชียร์แล้ว รักแล้ว พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจไปตลอดชีวิต ยังคงสนับสนุนทีมตัวเอง ซื้อตั๋วเข้าชม, ซื้อของที่ระลึก และติดตามทีมตลอดเวลา
 
        ธุรกิจฟุตบอลอยู้ได้ด้วย "ความจงรักภักดี" หรือ  loyalty ของแฟนบอลที่มีต่อทีมบอลหรือแบรนด์ฟุตบอลของพวกเขา
 
        โอเคครับ...โลกธุรกิจลูกหนังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะแยะเลย มันเป็นธุรกิจมากขึ้น ทำเงิน ทำกำไรมหาศาล รายรับไม่ใช่มีแค่ตั๋วชมเกม, ของที่ระลึก ยังมีสปอนเซอร์สนับสนุนทีมทั้งหลัก, รอง, โกลโบล, เรเจียน, ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, เงินรางวัลจากการแข่งขัน...
 
        เงินเยอะขึ้นมหาศาล....
 
        แต่...สุดท้ายแล้วคนทำธุรกิจต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานหรือเนื้อแท้ของทีมฟุตบอลนั้นอยู่ได้เพราะแฟนบอลครับ
 
        ลองคุณไม่มีคนดูเข้าสนามสิ หรือ สนามจุ 35,000 แฟนบอลเข้าสนาม 15,000 ทุกนัดเท่านี้ก็รอวันเจ๋ง สิครับ บรรยากาศในสนามไม่มีผู้ชมเป็นฐานสนับสนุน มีแต่เก้าอี้ ที่นอนเต็มไปหมด สปอนเซอร์ ที่ไหนจะเอางบโฆษณามาใช้กับทีมของคุณ
 
        ข้อนี้คือข้อควรระวัง...เพราะแฟนบอลไม่ใช่ลูกค้า อันนี้จริง ทีมบอลของคุณเป็นแบรนด์ เป็นยี่ห้อ แต่มีคนติดตามด้วยความรักและซื้อสัตย์ แม้กระทั่งทีมของคุณเล่นไม่เอาประเทศ เล่นห่วยแตก แค่ไหน แฟนบอลก็ยังเฝ้าติดตามเพื่อหวังจะเห็นทีมรักกลับมาเล่นดี
 
        ดังนั้นการขึ้นราคาตั๋ว การฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจฟุตบอลเป็นเรื่อง "อ่อนไหว" ต้องระวัง
 
        แฟนบอลเขาไม่เปลี่ยนทีมเชียร์หรอก แต่เขาอาจจะหยุดเชียร์หยุดติดตามเพื่อให้มันดีขี้น เท่านี้ทีมก็เสียรายได้ เสียบรรยากาศการเชียร์บอล เสียมูลค่า ถ้าแฟนบอลของคุณหายไปครึ่งค่อนสนาม มทุกอย่างมีผลกระทบแน่ๆ
 
        เรื่องนี้ทางสำนักบีบีซี ติดตามสำรวจความคิดเห็นจากสโมสรชั้นนำในพรีเมียร์ลีกเกี่ยวกับเรื่องราคาตั๋ว, ค่าเครื่องดื่ม, เสื้อผ้า และอีกมากมาย ในวันแข่งขัน 1 แมตช์ ว่าแฟนบอลต้องจ่ายเงินเท่าไหร่จึงจะได้แสดงความจงรักภักดีต่อทีมโปรดตัวเอง
 
        สวอนซี ซิตี้เป็นทีมเดียวที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือเรื่องนี้ต่อบีบีซี แต่อีก 19 ทีมยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ซึ่งถือว่าก็ 90% คงไม่เพี้ยนไปจากการสำรวจเท่าไหร่นัก
 
        ถ้าใครยังไม่ทราบเรื่องนี้ ผมถามเล่นๆว่า สโมสรไหนขายตั๋วดูบอลแพงสุด
 
        ถ้ายังนึกไม่ออก...ถามต่อว่าทีมไหนขายเสื้อบอลแพงสุด
 
        ทีมไหน...ขายตั๋วดูบอลถูกสุด
 
        คำถามแรกทีมที่ขายตั๋วดูเกมแพงสุดคืออาร์เซนอล 97 ปอนด์ หรือประมาณ 4,750 บาท ทีมที่ขายตั๋วถูกสุดคือทีมของคนไทยเลสเตอร์ ซิตี้ 22 ปอนด์ หรือประมาณ 1,100 บาท ทีมที่ขายเสื้อบอลแพงสุดคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 60 ปอนด์ หรือ 3,000 บาท นี่ยังไม่ได้นับชื่อที่ติดเป็นตัวอักษรและเบอร์ (อักษรละ1 ปอนด์)
 
        ถ้าคุณชอบ schweisteiger 31 ลองนับดูสิครับว่าจะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไหร่
 
        สำนักบีบีซีสำรวจในหัวข้อ BBC's fifth Price of Football survey หรือการสำรวจ "ราคาฟุตบอล" เป็นครั้งที่ 5
 
        มีทุกแง่ทุกมุม...นั่นจึงทำให้ทราบว่าบ้านเรายังห่างไกลเรื่องการทำธุรกิจฟุตบอล โดยเฉพาะด้านนี้ ถ้าใครเรียนปริญญาโท และอยากทำวิจัยให้มันเจ๋งๆใช้ประโยชน์ในสังคมได้ ไม่ใช่ทำวิจัยเพื่อให้จบแล้วรับ  master degree
 
        การสำรวจของบีบีซี ทำให้ทราบว่า...เวลาตั๋วเข้าชมเกมฟุตบอลเขาไม่ได้มีราคากำหนดตายตัวนะครับ ว่าที่นั่งดี ใกล้นักเตะ, กลางสนาม ,หลังประตู หรือแถวบนสุดอย่างในโอลด์ แทรฟฟอร์ด มองเห็นนักเตะตัวเล็กมาก ราคาลอคไว้แล้ว
 
        เวลานี้สโมสรชั้นนำในพรีเมียร์ลีกกลุ่มทอปโฟร์ ใช้แผนการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้เข้าสโมสรด้วยการกำหนดราคาตั๋วเป็น ประเภท หรือ  category ตั้งแต่ A-B-C เพื่อให้แฟนบอลได้จับจองซื้อเอาไว้ ซึ่งตรงนี้รายละเอียดสำหรับสมาชิกตั๋วปีหรือ  season ticket holder ไม่ได้ระบุไว้ว่า ประเภท เอ, บี,ซี ต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่
 
        ประเภทตั๋วก็คือ....คู่แข่งขันนั่นเองครับ
 
        ทีมในกลุ่ม A เป็นกลุ่มทอปโฟร์ ลุ้นแชมป์ แมนฯซิตี้, เชลซี, แมนฯยูฯ และจะรวมสเปอร์ส, ลิเวอร์พูล ที่สโมสรอาร์เซนอลมองว่าจัดในประเภทเอ ตั๋วจะต้องแพงเป็นพิเศษ จากนั้นก็เป็นทีมกลุ่มกลางวตาราง และท้ายตาราง ที่จัดเอาไว้ตามลำดับและราคาถูกลงนั่นเอง
 
        ส่วนสมาชิกตั๋วปี ไม่เป็นที่เปิดเผยเรื่องรายละเอียดตรงนี้นอกจากเหมาจ่ายทั้งฤดูกาลรวม 19 นัดในบ้านทั้งซีซั่น ไม่ได้แยกว่านัดไหนเจอใครจ่ายเพิ่มเหมือนแฟนบอลทั่วไปหรือไม่ อาจเหมารวมไปแล้วก็ได้ ยกตัวอย่างอาร์เซนอลคือทีมที่จำหน่ายตั๋วปีแพงที่สุด
 
        ส่วนฟุตบอลถ้วย..ได้สิทธิ์ซื้อก่อนคนอื่นๆ

        อาร์เซนอลขายตั๋วปีแพงสุดที่ 2,013 ปอนด์ ก็แสนกว่าบาทต่อปี ถูกสุดของปืนใหญ่ 1,014 ปอนด์ ก็ 5 หมื่นกว่าบาท ส่วนทีมกลุ่มนี้ที่ขายตั๋วปีถูกสุดได้แก่ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน 509 ปอนด์ ประมาณ 25,000 บาท อันนี้ในกลุ่มแพงสุด ไล่ลงมานะครับ
 
        กลุ่มแพงสุด 20 ทีม อาร์เซนอล แพงอันดับ 1 ส่วนเวสต์บรอมแพงอันดับ 20 คือสุดท้ายเลย ขายแค่ 509 ปอนด์ (แพงสุดของเวสต์บรอม)
 
        ส่วนกลุ่มตั๋วถูกสุดนั้นไล่จากบนขึ้นไปถึงอาร์เซนอล จะพบว่าทีม สโตค ซิตี้ จำหน่ายตั๋วปีที่ถูกที่สุด (ตามที่นั่งนั่นแหละ) 294 ปอนด์ ประมาณ 15,000 บาทต่อปี
 
        ที่แฟนบอลต้องจ่ายเพิ่มอีกคือหนังสือโปรแกรมแข่งขัน "แมตช์ เดย์ โปรแกรม" เฉพาะนัดเหย้านะครับ เดือนหนึ่งมีสองหรือสามแมตช์ในบ้าน , ชา, พาย ไม่นับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ได้มีรายงานตรงนี้แนบเอาไว้  (แต่เบียร์นี่แหละตัวดูดเงิน)
 
        ค่าหนังสือโปรแกรมแข่งขัน อยู่ระหว่าง 3-4 ปอนด์ แพงสุดเป็นเซาแเธมป์ตันขายเล่มละ 4 ปอนด์ หรือ 200 บาท พายก็ชิ้นละ2-4 ปอนด์ อะไรประมาณนี้ ชา แก้วหนึ่งก็อยู่ระหว่าง 1.80-3.50 ปอนด์
 
        สรุปนะครับถ้าตัดค่าเบียร์ออกไป หนึ่งแมตช์ แฟนบอลจะต้องจ่ายค่าตั๋ว...ชา, พาย, หนังสือโปรแกรม เอาแบบหลักๆ ประมาณนี้
 
        ถ้ายกตัวอย่างแฟนปืนนะครับ ถ้าคุณจ่ายตั๋วดูเกมที่แพงที่สุด 97 ปอนด์ ค่าพายชิ้นหนึ่ง 3.70  ปอนด์ หนังสือโปรแกรมที่เอมิเรสต์ ขาย 3.50 ปอนด์ ชาหนึ่งแก้ว 2.50 ปอนด์ รวมแล้วขั้นตำ่ที่จะต้องจ่ายสำหรับแฟนปืนที่ซื้อตั๋วแพงสุดเข้าไปดูเกม
 
        106.70 ปอนด์ หรือ 5,335 บาท อย่างต่ำสุดนะครับ
 
        เชื่อเถอะแฟนบอลส่วนใหญ่ซัดเบียร์อีกอย่างน้อยคนละไพนต์ สองไพนต์ ต้องมีเพิ่มมากกว่านี้ แต่นี่คือราคาของการจ่ายเงินเข้าดูปืนใหญ่เตะในแบบแพงสุด มากสุด ซึ่งไม้่ได้บวกค่าเบียร์, ค่าของที่ระลึก
 
        นั่นก็รวมทั้งตั๋วรถไฟ, ค่าน้ำมันรถ และอาจรวมถึงค่าอาหารกลางวัน และค่ำ ที่กินก่อนแข่งและหลังแข่ง ผมว่าการเป็นแฟนบอลนี่จ่ายแพงกว่าที่คิดนะครับ...รวมทั้งค่าเสียเวลาเพื่อใช้ในการดูเกม เหมือนกับการพักผ่อน
 
        แล้วหากไปพ่อแม่ลูกละครับ....ครอบครัวหนึ่งแบบนี้
 
        อาจไม่เพิ่มเป็นสองสามเท่าเพราะราคาพ่อแม่ลูกเขามีตั๋วที่กำหนดเอาไว้ไม่ต้องจ่ายแพง เพราะถือว่าดูบอลเป็นครอบครัวเท่ากับเอาเงินให้สโมสร เขาคิดราคาถูกกว่าปกติแน่ๆ แต่คงไม่ถูกมาขนาดนั้น
 
        อย่างไรก็ตาม...ผลสำรวจของบีบีซี ยืนยันว่า 2 ใน3 นั้นไม่ขึ้นค่าตั๋วครับ มีบางสโมสรเท่านั้นที่ขึ้นค่าตั๋ว แต่อย่างไรก็ตามแฟนบอลรวมตัวกันมาหลายปีแล้วเพื่อประท้วงสโมสรที่พยายามฉวยโอกาสขึ้นราคาที่ต้องทำให้พวกเขาจ่ายแพงกว่าปกติ
 
        นั่นจึงเป็นที่มาของ แฟนบอลไม่ใช่...ลูกค้า
 
        ผมเห็นด้วยครับ...แฟนบอลอาจมองว่าเป็นลูกค้า แต่เป็นลูกค้าที่ซื้อสัตย์ จงรักภักดีต่อสโมสรมาทั้งชีวิต เพราะพวกเขาจ่ายเงินให้สโมสร ทุกเพนส์, ทุกปอนด์ ทั้งตั๋ว, หนังสือ, ของที่ระลึก, เสื้อผ้า อะไรก็แล้วแต่ที่ทีมผลิตขึ้นมาภายใต้แบรนด์สโมสร
 
        โดยที่พวกเขาไม่เปลี่ยนใจไปซื้อของทีมอื่นๆเลยนะครับ
 
        ไม่มีหรอกครับที่แฟนบอลลิเวอร์พูลจะไปซื้อเสื้อแมนฯยูฯ มาเดินใส่ เช่นกันครับ แฟนผีคงไม่ไปจ่ายเงินค่าตั่วเพื่อดูอาร์เซนอลเตะหรอก แม้ว่าเขาจะทำงานในลอนดอนก็ตาม ยกเว้น แมนฯยูฯ ลงมาเยือน นั่นแหละที่เขาจะซื้อ...ซึ่งก็อยู่ในฝั่งทีมเยือน
 
        ความจงรักภักดีของแฟนบอล....ต่อสโมสรตัวเองนี่ เป็นธุรกิจในฝันของสินค้าในโลกนี้ทุกแบรนด์ละครับ แต่มันคงเป็นแบบนั้นไม่ได้...เพราะฟุตบอลมันเป็นเรื่องของ "อารมณ์, ความรู้สึก, ความรัก, ความตื่นเต้น อีกมากมายรวมเป็น  passion
 
        รักทีมทั้งที่...เล่นได้ปรัชญาลูกหนังน่าเบื่อ

        รักทีมทั้งที่...แช่ง อยากเห็น รอดเจอร์ส ออกจากตำแหน่งผจก.
 
        ถ้าเป็นแบรนด์สินค้า...ผลิตออกมาไม่สวย ไปซื้อยี่ห้ออื่นดีกว่า...แต่ทีมฟุตบอล ซื้อใครมาเล่นับทีม...เล่นแย่ขนาดไหน ผลิตเสื้อออกมาดูเห่ย เชยๆ แต่พวกเขาก็ซื้อ ก็ยังรัก และสนับสนุน ยอมจ่ายให้ทีม เพราะสุดท้ายเงินก็เข้าไปที่ทีม
 
        ยกเว้นบางทีมที่เงินเริ่มเข้ากระเป๋าเจ้าของทีมมากขึ้น
 
        นี่จึงทำให้ธุรกิจ ฟุตบอล แบรนด์สโมสรฟุตบอล มีความแตกต่าง โดดเด่นและพิเศษกว่าสินค้า หรือแบรนด์เสื้อผ้า...และสินค้าอีกมากมายในโลกนี้
 
        มันเกิดขึ้นได้ยังยั่งยืนเพราะคำว่า "จงรักภักดี" ต่อทีมของตัวเอง ดังนั้นสโมสรที่ประกอบธุรกิจฟุตบอลต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก...อย่าคิดว่า "การจ่าย" ของแฟนบอลนั้นถูกกว่าที่พวกคุณต้องการ เพราะจริงๆแล้ว แฟนบอลจ่ายแพงกว่าเงินที่ใช้ไปให้สโมสร ถ้าหากจะคิดถึงมูลค่าทั้งหมด
 
        ธุรกิจฟุตบอลจึงเป็นธุรกิจที่แตกต่างจากตัวอื่นๆ แม้จะมีความพยายามให้มันเป็นการทำธุรกิจที่ครบวงจรอะไรก็แล้วแต่
 
        เช่นกันครับ...ทีมฟุตบอลจะเก่งอยู่ทีมเดียวไม่ได้ คุณต้องการคู่แข่ง ถ้าเก่งทีมเดียว ทุ่มทุนสร้างทีมเดียว อีกไม่นานก็จะลดความสำคัญ มาตรฐานตกต่ำลงไป และธุรกิจตัวนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ 
 
        เนื้อแท้ของธุรกิจฟุตบอล.....คือแฟนบอลสำคัญที่สุด

Jackie

ติดต่อโฆษณา : TG.Thaigunners@gmail.com PHONE : 096 443 2589

THE HONOUR

FACEBOOK : GUNNERTALK

EMAIL : TG.Thaigunners@gmail.com

TEL : +6696-293-9839